การอ่านหนังสือ (ที่ดี) มีประโยชน์อย่างน้อย ๗ ประการ ดังนี้
๑. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก ถ้าพ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังจนเป็นนิสัยและสร้างความสุขอันล้นเหลือให้ลูก เด็กร้อยทั้งร้อยชอบฟังนิทาน
๒. สร้างพลังจินตนาการ ผู้ที่อ่านมากจะมีพลังของจินตนาการมาก พลังจินตนาการนำไปสู่ความจริง ความดี และความงาม
๓. สร้างพลังความรู้ ใครอ่านมากมีความรู้มาก ชาติที่ขาดพลังความรู้พัฒนาไปไม่ได้
๔. สร้างพลังทางปัญญา การอ่านมากทำให้สร้างโครงสร้างทางสมองที่ทำให้รู้และคิดเชื่อมโยงทำให้เข้าใจเรื่องยากๆได้ เรื่องยากไต้องอ่านจึงจะเข้าใจ ฟังอย่างเดียวไม่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องยากก็ไม่เข้าใจสังคมปัจจุบันซึ่งซับซ้อน ถ้าขาดพลังทางปัญญาสังคมก็วิกฤต
๕. สร้างพลังทางจริยธรรม เพราะจริยธรรมเกิดจากปัญญาที่เข้าใจความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงในความซับซ้อน
๖. สร้างความสุข การอ่านทำให้เกิดความสุขอย่างล้นเหลือ เมื่อมีความสุขจากการอ่านก็ไม่ไปทำสิ่งที่ฟุ่มเฟือยไม่ดีอื่นๆ
๗. สร้างบุคลิกภาพ คนอ่านน้อย รู้น้อยย่อมเอะอะโวยวายก้าวร้าว คนอ่านมาก มีปัญญามาก มีความสุขมาก ย่อมสุขุมคัมภีรภาพ ชาติที่อ่านน้อยกับชาติที่อ่านมากจึงมีบุคลิกภาพต่างกัน เพราะการอ่านกำหนดเป็นบุคลิกภาพของชาติ
***ที่มา : วารสารบ้านอารีย์ ฉบับที่ ๗๗, ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔, หน้า ๑๐-๑๑.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น